8/30/2006

ตอน แหกตาสามัคคี




ปี ๒๕๔๕ พัฒนาชุมชนจังหวัดลำปางได้นำคณะไปศึกษาดูงานประเทศลาวโดยข้ามแม่น้ำโขงทางสะพานมิตรภาพจาก จ.หนองคายเข้าสู่นครเวียงจันทน์ ทางการของลาวได้ส่งไกด์สาวปริญญาโทมานำทางคณะพวกเรา พอถึงพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลาว ไกด์สาวจึงเชิญพวกเราลงจากรถบัส พวกเรารวมกลุ่มกันและไกด์ได้เอ่ยขึ้นว่า พวกท่านมาทางนี้มาร่วมกัน..แหกตาสามัคคี..พวกเราไม่มีใครกล้าออกไปสักคน ไกด์สาวจึงเอ่ยขึ้นอีกว่า ขอโทษ คำว่าแหกตาสามัคคีเป็นภาษาลาวซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า..ถ่ายรูปหมู่..พวกเราบางคนยิ้มและทุกคนรีบเดินตามไกด์สาวไปแหกตาสามัคคีทันที

8/29/2006

ตอน ระฆ้งศักดิ์สิทธิ์



กรกฎาคม 2546 ผมได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน วันหนี่งได้พาเพื่อนนั่งรถยนต์ขี้นไปบนพระธาตุดอยกองมู เพื่อสักการะและชมทิวทัศน์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนๆตื่นตาตื่นใจและเดินไปที่ระฆังใบใหญ่ที่มีหลายใบและกำลังจะตีระฆังปรากฏว่ามีหญิงขายล็อตตารี่กล่าวว่า..ถ้าอยากได้บุญก็ตีระฆังเถิดเพราะเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ตีแล้วจะได้กลับมาเยี่ยมจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีก..พวกเราจึงถามว่าเพราะอะไรล่ะ หญิงนั้นตอบว่า เพราะมันเป็นตำนานเก่าแก่ของที่นี่ ผมจึงคิดย้อนกลับว่า มิน่าล่ะตอน พ.ศ.2526 ผมได้เดินทางไปประชุมที่จังหวัดนี้และได้ตีระฆังเสียงดังสนั่นหวั่นไหว..จีงได้กลับมารับบุญอีก แต่ขณะนี้ผมไม่ตีระฆังอีกแล้วเพราะกลัวบุญหล่นทับซ้ำสอง

ตอน ขอมดำดิน



นานมาแล้วพัฒนาการอำเภออุ้มผางได้เดินทางโดยรถยนต์รับจ้างจากอำเภออุ้มผางเพื่อไปจังหวัดตาก รถเป็นรถจิ๊บขนาดกลางค่าโดยสารคนละ 200 บาทออกจากอำเภอตอนตี 5 มีผู้โดยสารรวม 8 คน การเดินทางต้องข้ามเขตประเทศพม่า โดยถนนทางเท้า รถจะเดินได้ช้ามากและติดหล่ม ผู้โดยสารทุกคนจะต้องช่วยคนท้ายรถลากสลิงวินหน้ารถ ดันรถให้ขึ้นจากหล่มดินตลอดทาง ระหว่างคลุกโคลนทุกคนโดนหนามไผ่เกี่ยวและมีแผลเลือดออกซิบๆ แถมที่ฝ่าเท้าก็โดนแง่งหินบาดเป็นแผลเต็มไปหมด เป็น การเดินทางอย่างทุลักทุเล ทุกคนอ่อนเพลียเจ็บปวดเหนื่อยล้าและหมดแรง พอข้ามแม่น้ำเมยพ้นเขตพม่าเข้าสู่บ้านวาเล่ย์เขตอำเภอพบพระ เวลา 2 ทุ่มเศษ ทุกคนแยกย้ายกันหาบ้านพักหลับนอนอาศัย พัฒนาการอำเภอก็ไปบ้านหลังหนึ่ง มีชายชราคนหนี่งโผล่หน้าออกมาพร้อมตะเกียงแล้วร้องว่าเอ๊ะ นี่ใคร? เป็นขอมดำดินมาหรือเปล่า? พัฒนาการอำเภอได้ยินดังนั้นก็...น้ำตาเล็ด... แล้วรำพึงกับตัวเองว่า โห...ชีวิต

8/28/2006

มชช.เขา....มชช.เรา (มาตรฐานงานชุมชน)



เมื่อคราวสัมมนาถอดบทเรียนเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนโครงการแก้จนฯ ณ นอร์ทเทินฮอริเทจรีสอร์ท จ.เชียงใหม่ วันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2549 มีพัฒนาการอำเภอปง จ.พะเยา นามนายไพโรจน์ โพธิศาสตร์ ให้ข้อคิดเห็นว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของชุมชนจะใช้ระบบ มชช.ก็ได้ เช่น ในหมู่บ้านปัว มีครอบครัวหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินเลยแต่ไม่มีหนี้สิน ซึ่งตรงกันข้ามกับครอบครัวที่มีที่ดินทำกิน 10-20ไร่มีแต่หนี้ เมื่อเข้าไปคุยกับครอบครัวนั้นก็ทราบว่าเขาก็มีมาตราฐานตามวิถีเขาเรียกว่า มชช.เขา ทีนี้เจ้าหน้าที่ พช.ต้องเชื่อมให้เขามาเข้า มชช.เรา และให้เขาเป็นเครือข่ายต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนในหมู่บ้านแบบให้การซึมซับเข้าไปในวิถีของครอบครัวยากจนอื่นๆ นี่แหละขอตบมือให้นักพัฒนาที่มีดวงตาที่สามและเรียกว่าเป็นการสร้างงานพัฒนาชุมชนในแนว Two -Wayแบบบูรณาการซึ่งก่อให้เกิดเป็น "นวัตกรรมใหม่" ในวงการ พช.

8/27/2006

เพลง อุ้มผาง



พ.ศ.2522 ชาวประชาสัมพันธ์อำเภอได้แต่งเพลงเพื่ออำเภออุ้มผาง 1 เพลงมีเนื้อร้องว่า"ขึ้น ฮ.มาลงอุ้มผางเนื้อที่กว้างขวางคนไทยมากมี ถึงอยู่แห่งไหนก็เปรมปรีย์ ชื่อวิไลและสวยดีบ้านแม่กลองใหม่และแม่กลองคลี ..แม่ละมุ้ง แม่จัน โมโกร..ๆ มีความสุขโขที่บ้านหนองหลวง อันพวกเรา..พัฒนากรเจ้าเก่า..ถึงไม่หล่อ ก็ไม่หลอกลวง"

8/26/2006

นิทาน เรื่องความคาดหวัง



มีเยาวชนชายคนหนึ่งมาปรึกษาพัฒนากรทั้งน้ำตาว่า ครอบครัวผมส่งผมเรียนหนังสือ พ่อผมอยากให้ผมเป็นทหาร แม่ผมอยากให้ผมเป็นหมอ พี่สาวผมอยากให้ผมเป็นครู ผมไม่รู้จะทำอย่างไรดีครับ พัฒนากรจึงเอ่ยถามว่าแล้วน้องอยากจะเป็นอะไรล่ะ เยาวชนตอบว่า ผมอยากเป็นพัฒนากรเหมือนพี่ เอาล่ะซิครอบครัวนี้เห็นท่าจะทะเลาะกันแน่พัฒนากรคิด เอาอย่างนี้ตอนเย็นครอบครัวน้องกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันไหม พร้อมครับเยาวชนตอบ ถ้าอย่างนั้นน้องก็เอาเรื่องนี้หารือกันด้วยความรักและเอื้ออาทรกัน ผ่านมาหนึ่งอาทิตย์เยาวชนนั้นก็วิ่งมาหาพัฒนากรและมีใบหน้ายิ้มแย้มได้กล่าวว่าครอบครัวผมตกลงกันได้แล้วผมมีความสุขเหลือเกิน พัฒนากรถามมันเป็นอย่างไรล่ะ เรื่องนี้ครอบครัวผมเห็นว่าเป็นเรื่องอนาคตของผม จึงให้ผมตัดสินใจเอง แล้วน้องตัดสินในอย่างไรพัฒนากรถามอีก เยาวชนตอบว่าผมตั้งใจจะเป็นพัฒนากร

8/25/2006

ตอน ลุงบุญหลง



ลุงบุญหลงแห่งบ้านสามขา จังหวัดลำปาง ได้เล่าถึงการแก้ไขความยากจนในครอบครัวว่า ปี 2540 ครอบครัวยากจนมากมีหนี้สิน 80,000 บาทเศษ ทำให้ครอบครัวเกิดความทุกข์แสนสาหัส ตนเองนอนไม่หลับ คืนหนึ่งแลไปเห็นขนมที่ลูกวางไว้ จึงคิดว่าเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจนและได้ขอร้องลูกให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ลูกก็ขอร้องตนและภรรยาประหยัดค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ต่อมาคณะกรรมการหมู่บ้านสามขาได้ให้ทุกครัวเรือนจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวัน ภรรยาตนก็ไม่อยากทำเพราะไม่คุ้นเคยแต่จำเป็นต้องทำตามมติของชุมชน บัญชีครัวเรือนของลุงบุญหลงเป็นจุดเปลี่ยนวิถีชีวิตของครอบครัวทำให้ครอบครัวของลุงบุญหลงสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ ลุงบุญหลงกล่าวว่า"ผมหารายได้จากรายจ่าย"ลุงบุญหลงกล่าวเล่นๆว่าเดี๋ยวนี้ผมบอกให้ภรรยาเลิกทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวันแต่...ภรรยาผมไม่ยอม...

8/24/2006

การถอดบทเรียนแก้จน 1



ศพช.เขต 5 ได้จัดสัมมนาถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาความยากจนของหมู่บ้านต้นแบบภาคเหนือ 6 จังหวัด ณ กัซซันรีสอรท์ จังหวัดลำพูน ระหว่างวันที่ 9 -11 สิงหาคม 2549 หมู่บ้านเป้าหมายได้แก่บ้านสามขา จ.ลำปาง บ้านจอมแจ้ง จ.เชียงใหม่ บ้านดอยจัน จ.เชียงราย บ้านห้วยเจริญราษฎร์ จ.พะเยา บ้านแม่ปิง จ.แม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยอ้อ จ.ลำพูน วิธีการคือให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวย(Facilitator)และให้แกนนำของหมู่บ้าน 5 คน เล่าถึงกระบวนการชุมชนในการแก้ไขปัญหาความยากจนของตน ทุกหมู่บ้านมีความภาคภูมิใจที่หมู่บ้านตนเองเป็นต้นแบบ แกนนำจึงได้เล่ากระบวนการหมู่บ้านของตนอย่างเต็มที่และได้Best Practice ของชุมชน

8/21/2006

ตอน นางนพมาศ



พ.ศ.2538 มติที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภองาว ให้ทุกส่วนราชการส่งกระทงใหญ่และนางนพมาศเข้าร่วมกระบวนแห่และประกวดในวันลอยกระทงพัฒนาการอำเภอจึงนำเรื่องนี้เข้าหารือกับพัฒนากร มติเห็นพ้องว่าทุกคนร่วมด้วยช่วยกัน รถกระบวนและตัวกระทงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด สำหรับนางนพมาศไม่รู้จะหาที่ไหน ทำอย่างไรกันดี พวกเราได้แต่จ้องหน้ากัน มีพัฒนากรคนหนึ่งเอ่ยว่า เพื่อศักดิ์ศรีชาวพัฒนาชุมชน ถ้าไม่รังเกียจจะเลือกลูกสาวผมก็ได้ ในที่ประชุมเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถึงวันลอยกระทงพวกเราก็ร่วมกระบวนแห่และพิธีอย่างครีกครืน มีการประกาศผลรางวัลต่างๆ สำหรับผลการประกวดนางนพมาศ นางนพมาศพัฒนาชุมชนได้รางวัลชมเชย

8/20/2006

ตอน จื่อชา



ณ บ้านรักไทย บนยอดเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ชาวบ้านมีอาชีพปลูกชาอูหลงขาย ผมได้พาข้าราชการส่วนกลางออกติดตามงานในพื้นที่ พอถึงเวลาเที่ยงจึงพาไปรับประทานอาหารในร้านฮ่องเต้พันปี ก็มีพนักงานมาเสริฟ์น้ำชา(ชาอูหลง) ผมจึงกล่าวว่าพวกเรา เจี้ยเต้(ซึ่งแปลว่าดื่มน้ำชา) ปรากฏว่าพนักงานสาวเสริฟ์หันมาแล้วพูดว่าเจี้ยเต้เป็นภาษาจีนกลางที่นี้ดื่มน้ำชาเขาเรียกว่า จื่อชา เป็นภาษาจีนฮ่อ ผมจึงหน้าชาก่อนดื่มน้ำชา

8/19/2006

Walk Rally:ฐานทัวร์เกาะสวรรค์



สถานะการณ์สมมุติทัวร์เกาะสวรรค์ เรือทัวร์ใกล้ล่มผู้โดยสารจะต้องลงเรือบทได้แค่ 8 คน จากจำนวน 10 คนประกอบด้วย1เด็ก2ผู้ป่วย3ผู้พิการ4ผู้ติดยา5คนชรา6กำนัน7ผู้ใหญ่บ้าน8นักกล้าม9นายก อบต.10ตำรวจ จะทิ้งใคร 2 คนให้จมไปกับเรือทัวร์ล่ะ? เฉลย...ให้ไปทั้ง 10 คน โดยผู้ที่แข็งแรง 2 คนเปลี่ยนกันว่ายน้ำตาม ข้อคิดเรื่องนี้มีว่า มนุษย์ทุกคนมีคุณค่า เรียนรู้ได้และสามารถพัฒนาศักยภาพได้

8/18/2006

ตอน พัฒนากรฝังเข็ม



ผมเจ็บตรงนี้ครับหมอ หมอจีนได้เอามือกดลงบนท้องน้อยของพัฒนากร ตรงนี้ใช่ไหม ต่อมาหมอก็นำลูกประคบอุ่นๆประคบตรงที่เจ็บบนท้องน้อยหลายครั้ง

แล้วนำเข็มที่แช่น้ำร้อนแล้วยาวประมาณ 3 นิ้ว เริ่มฝังบนท้องน้อยลึกลงไป 1 นิ้ว ไล่เรียงลงบนขาซ้ายจรดถึงฝ่าเท้าใช้เข็มจำนวน 10 เล่ม แล้วปล่อยทิ้งไว้

1 ชั่วโมง เมื่อหมอเอาเข็มออกพัฒนากรจึงถามว่าผมเป็นอะไรครับ หมอตอบว่าเส้นเกร็งลกมันเคลื่อนฝังเข็มแล้วก็หายต่อไปสมรรถนะทางเพศคุณจะดีมาก

พัฒนากรยังเป็นหนุ่มจึงคอตกและคิดในใจว่า เอ อนาคตข้างหน้าเราจะทำอย่างไรดี

8/17/2006

ตอน การป้องกันความขัดแย้ง




ผู้อำนวยการฯมอบหมายให้คุณไปอบรมหลักสูตรการป้องกันความขัดแย้งฯวันที่ 4 สิงหาคม 2549 นี้ วิทยากรจากสถาบันพระปกเกล้าเชียวนา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการฯแจ้งให้ผมทราบ เมื่อถึงกำหนดการอบรมก็มีการลงทะเบียนและรับเอกสาร ก่อนเริ่มรายการผมได้ศึกษาเอกสารมีตอนหนึ่งที่ผมไม่เข้าใจความว่า การตัดวงจรระบบความคิดเชิงลบต้องตัดด้วยระบบความคิดเชิงบวก ซึ่งผมยังไม่เห็นภาพ พอท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงได้อธิบายตอนนี้ว่า การตัดวงจรระบบความคิดเชิงลบด้วยระบบความคิดเชิงบวก เปรียบสุภาษิตไทยที่ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ผมจึงถึงบางอ้อทันที

8/16/2006

ตอน บุคคลเป้าหมาย



พัฒนากร พัฒนากร ผู้ใหญ่บ้านหนึ่งเรียกและกล่าวว่า"นายอำเภอวิทยุมาเรียกพัฒนากรให้เข้าพบด่วน" เมื่อพัฒนากรเข้าพบนายอำเภอ นายอำเภอกล่าวว่า

คุณเป็น"บุคคลเป้าหมาย"ของจังหวัดตาก ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรวิทยากรความมั่นคง ณ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า จังหวัดพิษณุโลก รวม

45 วัน "ฝึกอบรมแล้วมาทำอะไรครับ"พัฒนากรเอ่ยถาม "ก็มาเป็นวิทยากรหลักของอำเภอในด้านความมั่นคง เช่น การฝึกอบรมไทยอาสาป้องกันชาติ

(ทส.ปช.) คุณรีบเก็บสัมภาระและออกเดินทางได้เพราะเขาให้ไปรายงานตัวช่วงบ่ายวันมะรืนนี้" พัฒนากรตอบ"ครับผม"

8/14/2006

ตอน แกงกะโละโป๊ะ



อ้อหมี่ อ้อหมี่ เสียงเรียกของแม่บ้านปากะญอให้พรรคพวกรับประทานอาหารที่บ้านแม่จันทะ พัฒนากรก็ร่วมล้อมวงนั่งรับประทานอาหารด้วยรวม 9 คน

อาหารมีแกงชามเดียวมีช้อนสีเขียวใบเดียวและใช้ร่วมกัน พัฒนากรสังเกตุว่าเป็นแกงต้นกล้วยใส่ไก่ ใส่กะปิ และข้าว มีรสเค็มประแล่มๆ จึงถามเสี่ยวว่า

นี่แกงอะไร เพื่อนตอบว่า มันคือแกงกะโละโป๊ะ ซึ่งเป็นอาหารชั้นดีเพื่อรับแขกกินกับข้าวสวย(โดยใช้มือ) พวกเราเวียนตักแกงคนละคำ พัฒนากรกินให้พออิ่ม

แล้วถามว่าแกงนี้ใส่อะไรเป็นพิเศษ แม่บ้านตอบว่าใส่เกลือ พริก ผงชูรส กะปิ ไก่ และผสมข้าวที่เราปลูกเอง(พันธุ์บรือแขะ)

8/13/2006

ตอน ผีตองเหลือง



พลบค่ำ บนยอดเขาถนนธงชัยพัฒนากรหนุ่ม 2 นาย กำลังเดินทาง(เท้า)ไปติดต่อราชการที่จังหวัดตาก พัฒนากรได้แลเห็นคนกลุ่มหนึ่ง 4 คน เป็นชาย

2 หญิง 2 คน แต่งกายนุ่งใบตองปิดเฉพาะของสงวน พัฒนากรจึงเข้าไปทักทายปรากฏว่าพูดภาษาไทยได้บ้างเล็กน้อย จากการคุยกับหัวหน้าครอบครัว

ทราบเป็นพ่อ 1 คน แม่ 1 คน ลูกสาว 1 คนและลูกชาย 1 คน ค่ำแล้วพวกเขากำลังหาที่พักผ่อนหลับนอน ปรากฏว่าพวกเขาเลือกที่พักติดกับหน้าผาและเอา

ศรีษะซุกไปทางหน้าผานั้น พัฒนากรได้หารือกันแล้วก็ขอร่วมพักนอนไปกับพวกเขาด้วย(เป็นผีตองเหลือง 1 คืน) รุ่งเช้าพัฒนากรจึงได้ถามว่าทำไมถึงนอน

เอาศรีษะซุกเข้าหน้าผา พวกเขาตอบว่าการนอนเอาศรีษะซุกเข้าไปในเขาเพื่อให้ผีฟ้าคุ้มครองรักษา

8/12/2006

ตอน โชคดี 3 ชั้น



พัฒนากรดีใจมากที่อำเภออุ้มผางได้ติดเครื่องปั่นไฟฟ้าและส่งกระแสไฟ ทุกวันในเวลา10.00 น. - 20.00 น. ต่อมาไม่นานอำเภอก็ได้จัดตั้งหอกระจาย
ข่าวไว้หน้าอำเภอ เพื่อกระจายข่าวเสียงตามสายทั่วเขตสุขาภิบาลอำเภอ วันหนึ่งนายอำเภอเรียกพัฒนากรเข้าพบและกล่าวว่า ผมมอบหน้าที่ให้คุณเป็น
ประชาสัมพันธ์อำเภอ พัฒนากรรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งจึงรีบหาทีมงานประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีข้อตกลงว่าจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ทุกวันระหว่างเวลา17.00
น. - 19.00 น. เพื่อประชาสัมพันธ์งานของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

8/11/2006

ตอน สีเขียวมาแล้ว


สมัยอดีต พัฒนากรได้รับคำสั่งให้ขับขี่รถจักรยานยนต์ กอ.รมน.ของอำเภอนำนายอำเภอไปประชุมที่บ้านโมโกร อำเภออุ้มผาง พอไปถึงหมู่บ้านก็มีชายกลางคนวิ่งกระหือกระหอบเข้ามาหาและกล่าวว่า นายอำเภอสีเขียวมาแล้ว ทั้งนายอำเภอและพัฒนากรงงไม่เข้าใจ จึงถามว่าสีเขียวมันเป็นอะไร ชายนั้นรีบตอบว่า
มันคือพวกคอมมิวนิสต์ ผู้ใหญ่บ้านจึงให้ข้อมูลท่านนายอำเภอควรรีบไปเถอะเพราะจะเกิดอัตรายแก่ท่านนายอำเภอ พัฒนากรจึงรีบขับมอเตอร์ไซค์นำ นอภ.
กลับเลาะไปตามถนนเรียบลำน้ำและได้เหลียวหลังแหงนดูบนภูเขาด้านหลังก็ได้เห็นกลุ่มชายฉกรรจ์แต่งชุดพลางสีเขียวแต่ไกลกำลังวิ่งลงมาจากเขา พัฒนากร
ก็ตกใจรีบบึ่งรถอย่างไม่คิดชีวิต พอพ้นรัศมีในที่ปลอดภัยพัฒนากรจึงถามนายอำเภอว่า ท่านครับทำไมพวกนั้นถึงไม่ยิงเรา ท่านตอบว่า พวกมันใช้อาวุธปืน
อาก้ารัศมีหวังผลได้แค่ 200 เมตร แต่เราห่างจากพวกมันประมาณ 500 เมตร พวกมันจึงไม่ยิงให้เสียลูกปืนไปเปล่าๆ

8/08/2006

ตอน คำสอนของพระธุดงค์


ในอดีตมีพระธุดงค์องค์หนึ่งเดินทางจากจังหวัดอุทัยธานีมาบนเทือกเขาถนนธงชัยเข้าสู่อำเภออุ้มผาง โดยปักกรดพักแรมห่างหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตรเพื่อปฏิบัติธรรมะและโปรดสัตว์ทั้งหลาย พัฒนากรมักจะแวะเวียนไปกราบนมัสการท่านเนืองๆ วันหนึ่งท่านเอ่ยว่าพรุ่งนี้อาตมาจะเดินทางออกจากอำเภออุ้มผางแล้วคืนนี้อาตมาจะพักค้างในโบสถ์วัดวิมลมังคลารามและอยากจะสอนบางอย่างให้โยมพัฒนากรด้วย คืนนั้น ท่านได้สอนพัฒนากรว่า คนเรามีโรคอยู่
2 โรค คือ โรคกายแพทย์รักษาได้ สำหรับโรคใจอันประกอบไปด้วยกิเลส โลภ โกรธ หลง ต้องรักษาด้วยคนเอง จากนั้นท่านจึงสอนให้
พัฒนากรนั่งสมาธิ กัมมัฏฐาน เบื้องต้นให้กำหนดลมหายใจเข้าออกเป็น พุทโธ เบื้องปลายไม่ให้กำหนด จากนั้นทั้งสองจึงนอนหลับไป พอพัฒนากร
ตื่นขึ้นมาประมาณ 5 นาฬิกา ปรากฏว่าไม่มีพระธุดงค์องค์นั้นแล้ว พัฒนากรพยายามตามหาทั่วอำเภอแต่ไม่พบองค์ท่านอีกเลย

8/07/2006

ตอน การทำงานในอนาคต

มีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง พัฒนากรไม่อยากเข้าไปทำงานเลยเพราะว่ามีแต่ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องเด็ก ชาวบ้านบ่นว่าลูกป่วยบ้าง ซนบ้าง เวลาทำงานก็ไม่มีคนดูแลและกลัวว่าลูกจะเกิดอันตราย พัฒนากรก็ไปนอนคิดว่าจะทำอย่างไรดี ก็นึกได้ว่าตนเคยเข้ารับการอบรมพัฒนากรระหว่างประจำการ ผอ.เขตเคยให้โอวาทว่า การทำงานพัฒนาชุมชนต้องทำงานในอนาคตจะไม่จนตรอก พัฒนากรจึงได้นึกถึงขั้นตอนการพัฒนาเด็กทันที โอ เราต้องสำรวจข้อมูลร่วมกับชาวบ้านซึ่งมีเด็กเล็กถึง 50 กว่าคน แล้วนำไปหารือ
ในที่ประชุมหมู่บ้าน ผลปรากฏว่าเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีจึงร่วมกันจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขึ้น
...ปัญหาเรื่องเด็กในหมู่บ้านนั้นจึง...เบาบางลง

ตอน ฟ้าสยอง

นานมาแล้ว มีสายการบินหนึ่งมีเครื่องบินโดยสารรับจ้างระหว่างอำเภอแม่สอด-อำเภออุ้มผางเป็นสายการบินเอกชนชื่อฟ้าสยาม ราคาสำหรับการโดยสารต่อคนเป็นเงิน 300 บาท นับว่าแพงมากในสมัยนั้น เครื่องบินมีอยู่ลำเดียวเป็นเครื่องบินปอรต์เตอร์มีใบพัดเดียวผู้โดยสารนั่งได้ 7 คน สัมภาระไม่เกินคนละ 3 กิโลฯ
ว้นหนึ่ง พัฒนาการอำเภอมีราชการด่วนที่จังหวัดตากต้องรีบนั่งเครื่องบินโดยสาร ก็พบว่ามีผู้โดยสารจำนวน 6 คน หนึ่งในนั้นมีสรรพากรอำเภอนั่งไปด้วย
พอออกจากอำเภออุ้มผางได้ประมาณ 45 นาที เกือบถึงสนามบินอำเภอแม่สอดแล้วปรากฏว่าเครื่องยนต์ขัดข้อง หยุดหยุด หมุนหมุน ตลอดเวลา พัฒนาการ
อำเภอแลไปเห็นสรรพากรอำเภอปลุกพระเครื่องที่ห้อยมาเต็มคอ ลำตัวสั่นเทิมแกว่งไปมา พวกเราจะทำอย่างไรดี? นักบินตระโกนว่าทุกคนอยู่ในความสงบ
ผมกำลังดีเลย์เครื่องลงสนามบินแล้ว เดชะบุญเครื่องลงสนามบินได้อย่างปลอดภัย สรรพากรกล่าวว่ามันเป็นเที่ยวบินฟ้าสยอง ต่อมาอีกไม่นานกรมการบิน
พานิชย์สั่งให้บริษัทนำเครื่องบินดังกล่าวไปตรวจสภาพและวินิจฉัยให้ระง้บการใช้เครื่องบินลำนี้ เพราะเป็นเครื่องบินเก่าที่ซื้อมาจากต่างประเทศและไม่ปลอดภัย

8/06/2006

อาสาสมัครพิทักษ์ป่า


อำเภอแห่งหนึ่งในภาคเหนือของประเทศ มีหมู่บ้านแห้งแล้งหมู่บ้านหนี่งชึ่งชาวบ้านเดือดร้อนมาก ตัวผู้ใหญ่บ้านเป็นกำนันของตำบลด้วย
ได้เข้าพบร้องเรียนต่อ นอภ.อำเภอนั้น นอภ.จึงสั่งให้พัฒนาการอำเภอช่วยดูแลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พัฒนาการ
อำเภอจึงเดินทางไปพูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน(กำนัน)นั้น และผู้ใหญ่บ้านจึงนัดหมายให้ชาวบ้านมาประชุมกัน แล้วก็ร่วมประชาคมกัน โดยให้
แกนนำของหมู่บ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ตั้งคำถามกับชาวบ้าน ถาม-ทำไมบ้านเราถึงไม่มีน้ำ ตอบ-เพราะฝนไม่ตก ถาม-ทำไมฝนไม่ตก
ตอบ-เพราะความชุ่มชื้นในอากาศมีน้อยมาก ถาม-ทำไมความชุ่มชื้นในอากาศมีน้อย ตอบ-เพราะไม่มีป่าไม้ เมื่อพบสาเหตุแล้วชาวบ้าน
จึงพูดคุยหาทางออก ผลสรุปชัดเจนว่าให้ปิดป่าโดยให้หมู่บ้านตั้งชุมยามเฝ้าระวัง และถ้าเด็กเห็นผู้ใดตัดไม้ก็ให้มารายงานกับคณะกรรม
หมู่บ้านเพื่อรับรางวัลครั้งละ 500 บาท รุ่งขึ้นปีต่อมาน้ำในลำห้วยก็ไหลกลับมาอีกครั้ง ทำให้ชาวบ้านปลื้มและดีใจเป็นอันมาก นอภ.
ป่าไม้อำเภอ พัฒนาการอำเภอและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้หารือกันจัดทำโครงการ ฝึกอบรมอาสาสมัครพิทักษ์ป่าขี้น โดยให้ผู้ใหญ่บ้านและ
ทีมงานหมู่บ้านดังกล่าวมาเป็นวิทยากร

8/04/2006

ตอน ความเชื่อ



ชาวปากะญอกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อเรื่องหนึ่งที่พัฒนากรเห็นว่าเป็นเรื่องแปลก พวกเขาชอบปลูกบ้านที่อยู่อาศัยเป็นบ้านฟากทำด้วยไม้ไผ่ยกพื้นสูงไม่เกิน

2 เมตร บันไดขึ้นบ้านมีประมาณ 3 - 4 ขั้น และทำด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกัน ความเชื่อพวกเขามีว่าหากมีคนขึ้นบันไดบ้านเขาและบันไดหักลง

จะเป็นเรื่องดีมีมงคลทำให้บ้านร่มเย็นเป็นสุขเกิดความมั่งคั่งทรัพย์สินไหลเทมา หากมีคนลงบันไดแล้วหักเป็นเรื่องไม่ดีอัปมงคลต้องรีบย้ายบ้านหรือ

เผาทิ้งเสีย ความสำคัญอยู่ที่พัฒนากรต้องเข้าใจเขาให้เกียรติในความเชื่อเขา ดั่งคำว่า ความเชื่อของข้าใครอย่าแตะ

8/02/2006

ตอน ดวงตาที่ 3


16 มกราคม 2521 มีบุคคลกลุ่มหนึ่งได้บรรจุเป็นพัฒนากรจำนวน 200 คนทั้งชายและหญิง มีการฝึกอบรมก่อนประจำการ 3 เดือนโดยแยกกันฝึกอบรม ณ ศพช.เขต 3 จังหวัดอุบลราชธานี และ ศพช.เขต 5 จังหวัดลำปาง แห่งละ 100 คน ณ ศพช.เขต 5 มีอาจารย์วิทยากรท่านหนึ่งได้ประสาทวิชาการให้พัฒนากรใหม่ว่า"การเป็นพัฒนากรต้องมีดวงตาที่ 3" ทุกคนยังไม่เข้าใจ จนกระทั่งมีการเรียนการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานชุมชนและการวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนากรใหม่จึงถึงบางอ้อ ว่าการมีดวงตาที่ 3 คือ การรู้ข้อมูลพื้นฐานชุมชนและสามารถวิเคราะห์ได้

8/01/2006

ตอน ความรักชาติ

นานมาแล้ว มีพัฒนากรคนหนึ่งได้รู้จักผู้นำกลุ่มกระเหรี่ยงในเขตประเทศพม่า เช้าวันหนึ่งได้ร่วมวงดื่มกาแฟและสนทนากัน ผู้นำกระเหรี่ยงกล่าวว่าเสี่ยวรับราชการไทยเงินเดือนเท่าไร พัฒนากรรีบตอบทันทีว่า 1,750 บาท งั้นเสี่ยวมาทำงานกับเฮา เฮาจะให้เงินเดือน 15,000 บาท พัฒนากรคิดและตอบว่า
ขอบคุณ พ่อแม่พี่น้องเฮาเป็นคนไทยเฮาจะไปถามความเห็นของพวกเขาก่อนเฮาจึงขอคิดดูก่อน ผู้นำกระเหรี่ยงเป็นคนฉลาดรู้ว่าพัฒนากรปฏิเสธแล้ว
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นค้นมาพัฒนากรยังคบหากับหัวหน้ากลุ่มกระเหรี่ยงนั้นเหมือนเดิม แต่หัวหน้ากลุ่มกระเหรี่ยงไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้อีกเลย